สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)

นโยบายการกํากับดูแลกิจการที่ดี

นโยบายแนวทางการบริหารจัดการที่ดี เนื่องจากพัฒนาการด้านสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสภาพแวดล้อมของสังคมโลกที่พยายามกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์การบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน จนมีแนวโน้มเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้าง ขณะเดียวกันได้ปรับปรุงและขยายขอบเขตรายละเอียดของแนวคิดดังกล่าวเพิ่มเติมมาโดยตลอด และมีการสื่อความให้ชัดเจนกันมากขึ้น ดังนั้น สพค. จึงควรจัดทำคู่มือธรรมาภิบาลขึ้น เพื่อใช้เป็นหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและสอดคล้องกับพัฒนาการของสากล ซึ่งมีหลักการกำกับดูแลกิจการ ดังนี้

=============================================

นโยบายด้านการควบคุมภายใน
สพค. ควรตระหนักถึงความสำคัญของการมีระบบการควบคุมภายใน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการที่ดีและเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินงานตามภารกิจมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สร้างความมั่นใจ เป็นที่เชื่อถือแก่สาธารณชนทั้งในด้านการดำเนินงาน การรายงานทางการเงิน และการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และนโยบาย โดยที่การควบคุมภายในเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน จึงควรกำหนดนโยบายการควบคุมภายในเพื่อถือปฏิบัติ ดังนี้

จัดให้มีระบบการควบคุมภายในอย่างเพียงพอและเหมาะสม ในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ โดยมีการประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นระยะๆ และปรับปรุงให้มีความรัดกุมเหมาะสม สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน
ให้มีการติดตามประเมินผลและการรายงานเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายในอย่างต่อเนื่อง
เสริมสร้างให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับตระหนักและเล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญของระบบการควบคุมภายใน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามปกติ เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กร
ปลูกฝังให้เจ้าหน้าที่มีวินัย และทัศนคติที่ดีในเรื่องการควบคุมภายใน และกำหนดบทบาทในการปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความซื่อสัตย์ ความมีคุณธรรม และจริยธรรรมของผู้บริหาร

=============================================

นโยบายด้านการตรวจสอบ
สพค. ต้องกำหนดให้การตรวจสอบสามารถดำเนินการสนับสนุนภารกิจองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผลสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ การดำเนินงานตามหลักกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร จึงควรกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการตรวจสอบที่แต่งตั้งและรายงานต่อคณะกรรมการ สพค. และมีสำนักตรวจสอบ โดยมีหลักการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ เที่ยงตรง เป็นธรรม ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ให้ข้อมูลและการรายงานที่มีคุณภาพ เพิ่มมูลค่าด้วยแนวคิดที่ทันสมัยตามมาตรฐานวิชาชีพ

=============================================

นโยบายด้านการบริหารความเสี่ยง
สพค. ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง โดยกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงทำหน้าที่ในการทบทวนนโยบายการบริหารความเสี่ยงองค์กร เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ สพค. เติบโตอย่างมั่งคนและยั่งยืน ซึ่งมีแนวคิดที่ว่าการบริหารความเสี่ยงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งองค์กรอย่างบูรณาการ คณะกรรมการควรมีส่วนร่วมในการระบุ วิเคราะห์ ประเมินความเสี่ยง การพัฒนากระบวนการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำและเมื่อจำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าความเสี่ยงที่สำคัญขององค์กรได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม

การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์
สพค. ต้องให้ความสำคัญในเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบและโปร่งใส รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังกล่าวอย่างครบถ้วน โดยต้องมีประกาศคณะกรรมการของ สพค. เรื่องหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์เป็นหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ นอกจากนี้ต้องกำหนดให้มีจรรยาบรรณ สพค. ที่ได้กำหนดแนวปฏิบัติในเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์สำหรับเจ้าหน้าที่ทุกระดับไว้อย่างชัดเจน และให้สำนักตรวจสอบจัดทำสรุปรายงานความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในระหว่างปีรายงานผู้อำนวยการ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการของ สพค.

=============================================

นโยบายการเปิดเผยข้อมูล
สพค. ต้องกำหนดนโยบายการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ตามหลักของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยยึดหลักการ“เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นสิ่งต้องห้าม” ที่มีการเปิดเผยอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และทันท่วงที โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก เพื่อแสดงถึงการดำเนินกิจการอย่างโปร่งใส ทั้งสารสนเทศด้านการเงินและไม่ใช่การเงินในรายงานประจำปี ทั้งรายงานทางการเงินควบคู่ไปกับรายงานของผู้สอบบัญชี นอกจากนี้ยังมีการรายงานข้อมูลสำคัญของ สพค. เช่น มติที่ประชุมคณะกรรมการ ผ่านทาง Website ของ สพค

ความสัมพันธ์และแนวปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
สพค. ควรให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งรัฐบาล เจ้าหน้าที่ลูกค้า คู่ค้า ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม โดยต้องกำหนดแนวปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในจรรยาบรรณของ สพค. รวมทั้งในแผนการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) และการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility) พร้อมทั้งได้กำหนดเป็นแนวทางความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนี้

ความรับผิดชอบต่อรัฐบาล
ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล หรือผู้กำกับดูแล โดยมีการรายงานผลการดำเนินงานและสถานภาพขององค์กรอย่างสม่ำเสมอ ครบถ้วน และตามความเป็นจริง
ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม และมีจิตสำนึกที่ดีในการปฏิบัติงาน
บริหารจัดการทรัพยากรขององค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาองค์กรให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ความรับผิดชอบต่อลูกค้า
ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ในราคาเป็นธรรม โดยไม่หวังผลกำไรทางการเงินเป็นสำคัญ
ปฏิบัติต่อลูกค้าทุกรายเท่าเทียมกัน เป็นธรรม โปร่งใส ด้วยใจให้บริการ มีมารยาท และมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
ความรับผิดชอบต่อคู่ค้า และหรือเจ้าหนี้
ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ อย่างเคร่งครัดตามที่ได้ให้ข้อตกลงไว้กับเจ้าหนี้
ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงได้ ต้องรีบแจ้งคู่ค้า/เจ้าหนี้ให้ทราบล่วงหน้าเพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขโดยด่วน
ให้ความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันกับคู่ค้า/เจ้าหนี้ทุกราย
ไม่เรียก ไม่รับ ไม่จ่ายผลประโยชน์ที่ไม่สุจริตต่อคู่ค้า/เจ้าหนี้
ช่วยเหลือคู่ค้าในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อบรรลุข้อตกลงที่มีต่อกัน

ความรับผิดชอบต่อเจ้าหน้าที่
ให้ผลตอบแทนและสวัสดิการที่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ มีกฎระเบียบให้เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติอย่างชัดเจน
ดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่อยู่เสมอ
ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่
บริหารงานโดยหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงในหน้าที่การงานของเจ้าหน้าที่
ให้เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติในเรื่องจรรยาบรรณของเจ้าหน้าที่โดยเคร่งครัด

สพค. ควรให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลองค์กรที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลและเห็นว่าการนำหลักธรรมาภิบาลมาปฏิบัติในองค์กรจะประสบความสำเร็จได้นั้น คณะกรรมการต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี โดยมีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ ในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลการดำเนินกิจการให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนผลักดัน เสริมสร้าง และปลูกฝังให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับมีความตระหนัก และมีจิตสำนึกในจรรยาบรรณของ สพค. อย่างทั่วถึงทั้งองค์กรพร้อมทั้งเชื่อว่าระบบการกำกับดูแลองค์กรที่มีประสิทธิภาพ จะส่งเสริมให้องค์กรมีความมั่นคงในระยะยาว และจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม



  • สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)
    33 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230