สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)

คำแถลงการณ์ของ ผอ.สพค.

การแถลงนโยบายการบริหารงาน สพค.
การแถลงนโยบายการบริหารงาน สพค. ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร

          บทบาทสำคัญของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2556 คือ การพัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่เชื่อมโยง หรือต่อเนื่องกับเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาภาคการท่องเที่ยวใน 8 จังหวัดล้านนา (เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน) โดยวางตำแหน่งให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง (HUB) ในการเชื่อมโยงกับอีก 7 จังหวัด ให้มีโครงข่ายการท่องเที่ยวเชื่อมกันอย่างเป็นระบบ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เกี่ยวกับแผนงาน ที่จะเร่งรุกให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

สำนักงานพัฒนาพิงคนคร เป็นต้นแบบ (Model) ที่ตั้งความหวังไว้ว่าจะพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดล้านนาให้ได้ในอนาคต โดยมียุทธศาสตร์และกลยุทธ์ใน 6 ด้านหลักคือ สนับสนุน-ส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภายในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่เชื่อมโยงให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อมกับสนับสนุนการพัฒนาระบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานระดับสากลและยั่งยืน ขณะเดียวกันยังมุ่งส่งเสริมปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการด้านการท่องเที่ยว อีกด้านคือพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูล องค์ความรู้ที่ทันสมัยและเครือข่ายการพัฒนาที่เข้มแข็ง นอกจากนี้มุ่งเน้นการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น และพัฒนาองค์กรให้มีขีดสมรรถนะสูงและเป็นมืออาชีพ “ปี 2558 จะทำแผนเชิงรุกในการพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงทั้งกลุ่มล้านนาให้เป็นรูปธรรม โดยเชียงใหม่จะเป็นเมืองหลักที่จะโยงไปหาอีก 7 จังหวัด เช่น มาเที่ยวเชียงใหม่ แล้วไปไหว้พระธาตุลำปางหลวงที่ลำปาง จากนั้นเดินทางต่อไปในพื้นที่ใกล้เคียงได้ภายในเวลา 1-1.5 ชั่วโมง” โดยงบประมาณในปี 2559 ทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้เสนอของบประมาณสนับสนุน 20 โครงการ ครอบคลุมทุกยุทธศาสตร์ งบประมาณราว 1,100 ล้านบาท ซึ่งทางพิงคนครได้ทำการพิจารณาในเบื้องต้นแล้ว และเตรียมส่งโครงการให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป เช่น จังหวัดเชียงรายเสนอโครงการพัฒนาเส้นทางวิถีล้านนาบูชาพ่อขุนด้วยสวนตุงงบฯ 30 ล้านบาท

จังหวัดพะเยาเสนอโครงการสร้างหอนาฬิกาพญานาค จังหวัดลำปางเสนอการท่องเที่ยวด้วยสถานีรถม้า บางจังหวัดเสนอโครงการสร้างรถราง หรือแทรม (Tram) เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบในเขตตัวเมือง (City Tour) โครงการปรับปรุงจุดแวะพักเส้นทางวงแหวนเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน การพัฒนาชุมชนเวียงยอง จังหวัดลำพูน เป็นต้น ซึ่งทุกโครงการต้องเน้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และสะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรมล้านนา

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่มี 2 โครงการสำคัญที่กำลังเร่งพัฒนา คือ โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้า (Cable Car) ขณะนี้ได้ทำการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการยื่นขอพิจารณาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA โครงการนี้เรามองว่าจะเข้ามาสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ เป็นทางเลือกในการเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวได้เร็วขึ้น เช่น ดอยสุเทพ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลรถจะติดขัดมาก อีกโครงการคือ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ โดยเราอ้างอิงผลการศึกษาในเรื่องนี้ของ สนข.ที่ทำไว้เมื่อปี 2551 เรื่องนี้สำคัญเพราะจะสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวโดยตรง

โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 20 โครงการ ที่ได้นำเสนอมานั้น จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน และจะเป็นการกระจายเศรษฐกิจไปยังกลุ่มล้านนาอย่างทั่วถึง ยกตัวอย่าง เช่น โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะส่งผลให้ราคาที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียงครอบคลุม 3 ตำบลเพิ่มสูงขึ้น และชาวบ้านใน 3 ตำบลมีงานทำ มีรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าเยี่ยมชมโครงการราว 600,000 คนต่อปี ในจำนวนคนที่มาเที่ยวทั้งหมดนี้ยังไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงอื่น ๆ อีก อาทิ เวียงกุมกาม ซึ่งปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 2 แห่งมีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเข้าหากัน และเป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวกำลังนิยมอย่างมาก เป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจด้านบวก (Positive Economic Impact) ที่เกิดจากการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว และจะนำเอารูปแบบนี้ไปสร้างโครงการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ขณะเดียวกันโครงการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานในกำกับของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร นับเป็นโครงการที่สนับสนุนภาคการท่องเที่ยวเชิงประชุม (MICE) ได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยในช่วงปี 2559 มี 2 อีเวนต์ที่จะเข้ามาใช้บริการศูนย์ประชุม คือ งาน UFI Open Seminar in Asia 2016 เป็นงานที่ผู้ประกอบการด้านการจัดแสดงสินค้า-นิทรรศการ จากทั่วโลกจะมาร่วมสัมมนาและจัดแสดงในช่วงเดือน ก.พ. 59 ราว 1,000 คน นอกจากนั้นเดือนธ.ค. 59 คือ งานประชุมอ้อยโลก จะมีผู้เข้าร่วมประชุมและติดตามราว 2,000 คน จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของเชียงใหม่หลายส่วน ทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจบริการต่าง ๆ เช่น สปา และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง ที่จำนวนคนกว่า 3,000 คน ภาคการท่องเที่ยวของกลุ่ม 8 จังหวัดล้านนา กำลังเร่งขยับและเชื่อมโยงเข้าหากัน เป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวที่จะเกื้อหนุนกัน และจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เติบโตยั่งยืนอย่างแท้จริง



  • สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)
    33 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230