สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)

การประชุมนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2

visibility 47,220

สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเป็นที่ปรึกษาหลัก ในการศึกษาวิจัยความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โดยมี นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุม ร่วมด้วยนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และนายศราวุฒิ ศรีศกุน ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)  วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม 2558 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่

การประชุมนี้ที่ปรึกษาได้สรุปผลการศึกษาในเบื้องต้นถึงเทคโนโลยีระบบขนส่งมวลชนสายหลักที่เหมาะสมสำหรับเมืองเชียงใหม่คือรถไฟฟ้าแบบราง (Tram) ด้วยจุดเด่นเช่นมีความจุในการขนส่งสูง ไม่ปล่อยมลภาวะ มีความคล่องตัว สะดวกสบายในการเดินทาง และตรงเวลา โดยกำหนดโครงข่ายเส้นทางจากความคับคั่งของการสัญจรของประชาชน การขยายตัวเมือง สถานที่สำคัญ/สถานที่ท่องเที่ยว การลดปริมาณจราจร และการให้บริการของสี่ล้อรถแดง ทั้งนี้ได้แบ่งระยะการดำเนินการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 (5-15 ปี) ประกอบด้วย เส้นทางรถไฟฟ้าแบบรางนี้ 5 เส้นทาง โดยมีเส้นทางหลักที่ควรจะเริ่มดำเนินการเป็นลำดับแรก 3 ช่วง ในลักษณะของการวิ่งวน ซึ่งได้แก่ 1) เส้นทางสายเหนือ-ใต้ส่วนบน (สายสีแดง) โดยมีสถานีเริ่มต้นจากจากศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติด้านทิศเหนือของตัวเมืองเชียงใหม่ ลงมายังตัวเมือง วนรอบตัวเมืองตามเข็มนาฬิกาและวกกลับขึ้นไปยังสถานีต้นทาง 2) สายเหนือ-ใต้ส่วนล่าง (สายสีน้ำเงิน) โดยมีสถานีเริ่มต้นจากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ขึ้นเหนือผ่านสนามบินเชียงใหม่ไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ วนรอบตัวเมืองตามเข็มนาฬิกาและวกกลับลงไปยังเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และ 3) สาย ตะวันตก-ตะวันออกส่วนตะวันตก (สายสีเหลือง) จากสวนสัตว์เชียงใหม่ ผ่านมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิ่งไปทางทิศตะวันออกวนรอบตัวเมืองก่อนจะวกกลับออกไปทางโรงพยาบาลสวนดอกก่อนกลับไปยังต้นทาง โดยจะมีป้ายจอดรับส่งผู้โดยสารเป็นระยะตลอดแนวเส้นทาง ที่ระยะห่างประมาณ 300-400 เมตร ทั้งนี้ที่ปรึกษาระบุว่าผู้ประกอบการรถสี่ล้อแดงอันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่นั้นก็ไม่ขัดข้องในการเกิดขึ้นของโครงการ และยังเห็นเป็นโอกาสในที่ร่วมทำหน้าที่ในการขนส่งผู้โดยสารป้อนระบบขนส่งมวลชนนี้อีกด้วย

นายศราวุฒิ ศรีศกุน กล่าวว่า ระบบขนส่งมวลชนนี้จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะต่อพี่น้องประชาชนในตัวเมืองเชียงใหม่ แต่จะเป็นสิ่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชาวจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว อันเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้กับจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำหรับการศึกษาที่จะสรุปเป็นรายงานในอีกสองเดือนข้างนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และภาคีที่เกี่ยวข้อง จะได้นำเสนอผลการศึกษาต่อรัฐบาลเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างและบริหารโครงการต่อไป



  • สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)
    33 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230