สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)

ประเพณีตานก๋วยสลาก

visibility 70,471

ประเพณีตานก๋วยสลากหรือสลากภัตนี้เป็นประเพณีที่ชาวล้านนาแสดงความระลึกถึงบรรพบุรุษญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ก๋วยสลาก

ก๋วยสลาก สานจากไม้ไผ่เป็นรูปทรงกระบอก (ชะลอม) ข้างในกรุด้านข้างด้วยใบตอง สำหรับบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง ผลหมากรากไม้ ของใช้จำเป็น ดอกไม้ธูปเทียน โดยชาวบ้านจะนำก๋วยสลากของแต่ละคนไปรวมกันที่วัดเพื่อทำพิธีทางศาสนา

ประเพณีตานก๋วยสลาก (1)

จากนั้นก็จะมีการสุ่มแจกสลากให้กับพระแต่ละรูปโดยที่ไม่มีใครทราบว่าในตานก๋วยสลากนั้นมีอะไรอยู่ข้างในบ้าง พระรูปใดจับได้ตานก๋วยสลากของใครก็จะเรียกชื่อเจ้าของตานก๋วยสลากนั้นออกมารับศีลรับพร และกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว ส่วนสิ่งของในตานก๋วยสลาก หากมีเหลือเฟือมากพระภิกษุก็จะนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้อีกต่อหนึ่ง

คำว่า ตานก๋วยสลาก เป็นภาษาของชาวล้านนา หากเป็นภาษาภาคกลางจะตรงกับคำว่า สลากภัต ประเพณีตานก๋วยสลากทางภาคเหนือนิยมจัดกันในช่วงเดือน ๑๒ เหนือถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี

โดยมากแล้วชาวล้านนาจะจัดงานตานก๋วยสลากในช่วงที่ทำนาเสร็จแล้ว เป็นช่วงที่ได้หยุดพักผ่อนกัน พืชพันธ์ผลไม้ต่างๆ ก็ออกลูกออกผล พระสงฆ์เองก็ยังอยุ่ในช่วงเข้าพรรษา ไม่ได้ไปจำพรรษาทีไหน ประจวบกับในช่วงเวลานั้น ชาวบ้านที่ขัดสน ข้าวที่เก็บเกี่ยวเอาไว้ในยุ้งฉางก็เริ่มจะหร่อยหรอ การจัดงานตานก๋วยสลากจึงเป็นการฝึกตนให้รู้จักการให้ทาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สังเคราะห์คนยากคนจน

ก่อนที่จะถึงวันงานตานก๋วยสลาก ทางภาคเหนือจะเรียกว่า วันดา หรือวันสุกดิบ ชาวบ้านจะจัดเตรียมอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แล้วนำมาจัดใส่ก๋วยสลาก (ชะลอมไม้ไผ่) ที่กรุด้วยใบตอง เมื่อใส่ของลงไปในก๋วยสลากแล้วก็จะมัดปากให้เรียบร้อย จากนั้นก็จะเหลาไม้ไผ่เป็นก้านเล็กๆสำหรับเป็นยอดก๋วยสลาก เอาไว้สำหรับเสียบสตางค์ กล่องไม้ขีดไฟ หรือบุหรี มากน้อยตามฐานะและศรัทธา สมัยก่อนจะนำใบลานมาทำเป็นเส้นสลากแทนกระดาษสำหรับเขียนระบุไปว่า อุทิศตานก๋วยสลากให้กับใคร อาจเป็นบรรพบุรุษ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว

เมื่อถึงวันถวายตานก๋วยสลาก ก็จะนำตานก๋วยสลากไปรวมกันที่หน้าวิหารที่วัดเพื่อทำพิธีทางศาสนา หลังจากนั้นก็จะนำเส้นสลากจากญาติโยมมาแจกแบ่งให้กับพระภิกษุแต่ละรูป แล้วอ่านเรียกชื่อเจ้าของสลากนั้น จากนั้นพระภิกษุที่ได้สลากของญาติโยมคนใดก็จะให้ศีลให้พรกับเจ้าของสลาก และกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

สำหรับก๋วยสลากที่ทำกัน แบ่งได้ ๓ แบบ

ก๋วยน้อย ใช้สำหรับอุทิศให้กับบรรพบุรุษ หรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะเป็นญาติพี่น้อง เป็นมิตรสหาย หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เคยอยู่ด้วยกันมาก็ได้ ทั้งช้าง ม้า วัว ควาย แมว และสุนัข หรือถ้าไม่ได้ถวายทานให้กับใครเป็นพิเศษ ก็สามารถถวายเอาไว้ภายภาคหน้าก็ได้

ส่วน ก๋วยใหญ่ จะเป็นก๋วยที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษ สามารถจุของได้มากกว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ที่มีฐานะดีที่ต้องการทำบุญอุทิศบุญกุศลไปให้กับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว

สลากโชค จะต่างจากก๋วยสองแบบแรกอย่างชัดเจน สลากโชคจะทำเลียนแบบต้นไม้สูงใหญ่ แล้วนำสิ่งของต่างๆ ไปแขวนไว้บนต้นไม้ เช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน มุ้ง ถ้วยขาม เครื่องนุ่งหุ่ม อาหารแห้ง และเงินทอง

ประเพณีทำบุญสลากภัตหรือตานก๋วยสลากครั้งแรกในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นตามตำนานที่เล่าสืบๆ กันมาของปู่ย่าตายายถึงนางยักษ์ตนหนึ่งที่เมื่อได้ฟังพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเกิดเสื่อมใสศรัทธา กลับเนื้อกลับตัว ที่เคยใจคอโหดเหี้ยมก็กลายเป็นผู้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อแก่คนทั่วไป จนผู้คนพากันชื่นชมในน้ำใจของนางยักษ์ตนนั้นจนนำสิ่งของต่างๆ มาแบ่งให้เป็นจำนวนมาก นางยักษ์จึงนำข้าวของที่ได้รับมานั้นมาทำสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์ สามเณรจับสลาก โดยของที่นำมาทำสลากภัตนั้นมีทั้งของมีค่าราคาแพง และราคาไม่แพง แตกต่างกันไปตามแต่สงฆ์หรือสามเณรรูปใดจะได้ไป



  • สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)
    33 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230