สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)

เส้นทางเดินเที่ยวด้วยตนเองในเมืองเชียงใหม่ (Self – guided walking tour of chiang mai city)

visibility 33,387

ม่วนใจ๋ แอ่วเพลิน เดินชมเวียง เชียงใหม่ กับ เส้นทางท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่

ยินดีต้อนรับสู่เมืองเชียงใหม่

เมืองเชียงใหม่ อดีตราชธานีแห่งอาณาจักรล้านนา เมืองประวัติศาสตร์ 720 ปีที่ยังมีชีวิต เต็มไปด้วยสีสัน และความรุ่มรวยของมรดกทางวัฒนธรรม โดดเด่นทั้งความงดงามของวัดวาอาราม งานสถาปัตยกรรม และมนต์เสน่ห์แห่งวิถีชีวิตจารีตประเพณีของเมืองเหนือ จุดหมายการท่องเที่ยวที่ใครหลายคนต่างปรารถนาอยากจะมาสัมผัส และเยี่ยมชมซักครั้งในชีวิต แล ะหากให้คิดถึงตัวแทนคุณค่าทั้งหลายที่กล่าวมา เมืองเก่าเชียงใหม่ (เวียงเชียงใหม่) ก็คือ ตัวแทน หรือ แลนด์มาร์คสำคัญ สำหรับนักท่องเที่ยวทุกคน

เนื้อหาบทความนี้ จึงอยากจะชวนนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาเที่ยวเชียงใหม่ ร่วมออกเดินทางไปสัมผัส และรับรู้ถึงคุณค่า กับความงดงามของเมืองแห่งนี้ บน 5 เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบใกล้ชิด ทั้งในแง่มุมประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม งานช่าง งานฝีมือ และวิธีชีวิตของชุมชน
…เลือกเส้นทางท่องเที่ยวที่คุณชอบแล้วออกไปหลงรักเมืองเชียงใหม่ด้วยกันค่ะ

เส้นทางท่องเที่ยวทั้ง 5 เส้นทาง เหมาะสมสำหรับนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย จะใช้คู่กับการเดินเที่ยว ปั่นจักรยาน รถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถสาธารณะก็ล้วนแล้วแต่สะดวกสบาย เที่ยวได้ตั้งแต่เช้าตรู่ไปจนถึงพลบค่ำ

Tips ก่อนท่องเที่ยว ควรเตรียมอุปกรณ์เล็กน้อยๆ ที่สามารถพกติดตัวได้สะดวก และช่วยให้เที่ยวได้สนุกขึ้น เช่น หมวก ร่ม พัด กระติกน้ำ และผ้าเช็ดหน้า รวมถึงกล้องถ่ายภาพ พร้อมแบตเตอรี่เต็มก้อน จะได้ไม่พลาดโอกาสเก็บภาพประทับใจ

คงจะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับใครหลายๆคนหากจะบอกว่า เมืองเก่าเชียงใหม่ เมืองประวัติศาสตร์กว่า 720 ปี ยังคงมีร่องรอยและเรื่องราวว่าด้วยความรุ่งเรืองของราชวงศ์ล้านนา ให้ทุกคนได้ค้นหา เรียนรู้ และประทับใจ สถานที่สำคัญๆ และสถานที่ท่องเที่ยวในเขตเมืองเก่ายังคงบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ เพียงแค่คุณลองออกไปสัมผัส จะพบว่ายังมีเรื่องราวอีกมากมายที่จะสร้างความประทับใจ ให้กับคุณไม่รู้ลืม

เส้นทางที่ 1 เส้นทางวังหลวงกษัตริย์ล้านนา (ข่วงหลวงเวียงแก้ว)
1. พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ หรือ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ คือพระบรมราชานุสาวรีย์ของกษัตริย์ 3 พระองค์ ผู้สร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ คือ พระญามังราย, พญางำเมือง และ พ่อขุนรามคำแหง อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
2. วัดอินทขิล หรือวัดสะดือเมือง วัดแห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ประดิษฐานของเสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง ซึ่ง ปักอยู่ ณ จุดศูนย์กลางเมือง (สะดือเมือง) ครั้งพระญา มังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันถูกย้ายไปประดิษฐานไว้ที่หออินทขิลวัดเจดีย์หลวงฯ
3. ศาลพระญามังราย เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า ใน พ.ศ.1860 พระญามังรายสวรรคต ที่กาดกลางเวียง พญาไชยสงคราม ราชโอรส ได้สร้างกู่ขึ้นที่กาดกลางเวียง ซึ่งก็คือบริเวณที่ตั้งศาลแห่งนี้
4. วัดดวงดี หนึ่งในวัดเก่าของเมืองเชียงใหม่ ที่มีชื่อเป็นสิริมงคล จึงเป็นวัดที่ทั้งชาวไทย และต่างชาตินิยมไปทำบุญ และไหว้พระ นอกจากนี้วัดแห่งนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างที่งดงามทั้ง พระวิหาร และหอไตร ที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามและหาชมได้ยาก
5. วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ สร้างขึ้นในช่วงเวลาของการสร้างเมืองเชียงใหม่ ความสวยงามของวัดอยู่ที่วิหารทรงล้านนา และโบราณสถานซากอุโมงค์ที่ใช้สำหรับเดินจงกรมอายุราว พุทธศตรวรรษที่ 20
6. วัดล่ามช้าง วัดเล็กๆ ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับการสร้างเมืองของพระญามังราย ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า พื้นที่วัดแห่งนี้เคยเป็นที่เลี้ยงช้างของพระญามังราย ได้ชื่อว่า เวียงช้าง
7. วัดเชียงมั่น วัดที่ถูกสันนิษฐานว่าเป็นวัดแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นบนพื้นที่ ที่เคยเป็นที่ประทับของพระญามังราย หรือที่เรียกกันว่า ‘เวียงเล็ก’
8. วัดแสนเมืองมาหลวง ตามพงศาวดารโยนก ระบุว่าวัดแสนเมืองมาหลวงสร้างขึ้นโดยพญาเมืองแก้ว กษัตริย์ในราชวงศ์มังราย ตำแหน่งของวัดตั้งอยู่ในพื้นที่ลานด้านเหนือของเมืองซึ่งเป็นพื้นที่ของเจ้านาย จึงมีชื่อเรียกขานกันว่า ‘วัดหัวข่วง’
9. คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) คุ้มเจ้า คือเรือนพักของเจ้านาย และชนชั้นผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ในอดีต คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) ก็คือหนึ่งในสองคุ้ม ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์สวยงามด้วยงานสถาปัตยกรรมยุคโคโลเนี่ยล ปัจจุบันได้รับการดูแลโดยสำนักงานยาสูบจังหวัดเชียงใหม่

Dont Miss
– หากแวะไปเที่ยววัดเชียงมั่น ก็อย่าลืมสังเกตจิตรกรรมฝาพนังอันสวยงามภายในวิหาร ว่าด้วยตำนานการสร้างเมืองเชียงใหม่
– วัดล่ามช้าง ขึ้นชื่อว่าในอดีตเคยเป็นพื้นที่เลี้ยงช้างของกษัตริย์ ก็ย่อมต้องมีหลักฐานหลงเหลืออยู่บ้าง ลองไปเดินเที่ยวตามหามุดหลักมัดโซ่ช้างกันดูสิ บอกใบ้ให้ว่าเป็นเสาหินขนาดใหญ่ ที่คุณเห็นแล้วจะต้องทึ้ง

เส้นทางที่ 2 เส้นทางวิถีชุมชน สล่าเมือง(ชุมชนพวกแต้ม คัวตอง)
ไม่บอกก็คงไม่มีใครเชื่อว่าเมืองเก่าเชียงใหม่ ที่มองเพียงผิวเผินแล้วอาจจะหลงคิดไปว่าเมือง แห่งนี้คงจะไม่เหลือสภาพความเป็นชุมชนดั้งเดิมหลงเหลืออยู่ให้ได้ชม แต่แท้จริงแล้วความแน่นเหนียวของสังคมแบบดั้งเดิม บ้าน-วัด-โรงเรียน ยังคงมีหลงเหลือ ให้เราได้สัมผัส และได้เรียนรู้อีกมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนพวกแต้ม ชุมชนด้านทิศใต้ของเมืองเก่า ใกล้ประตูเชียงใหม่ เส้นทาง ท่องเที่ยวเริ่มจาก
1. วัดพวกแต้ม คือวัดศูนย์กลางชุมชน และเป็นไฮไลท์ของเส้นทางท่องเที่ยว เพราะวัดแห่งนี้เป็นถือว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นทั้งวัดที่ ชาวชุมชนมาร่วมกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำ เป็นที่ทำการชุมชน และศูนย์กลางงานผลิตฉัตรทอง (คัวตอง) งานหัตถกรรมฉลุแผ่นเหล็กและการทำฉัตรที่ใหญ่ที่สุดในจ.เชียงใหม่ ที่คุณสามารถเข้าไปชมได้อย่างใกล้ชิด
2. วัดพันแหวน หนึ่งในวัดสำคัญของชุมชน ชุมชนพวกแต้ม และกลุ่มบ้านหลังตลาดประตูเชียงใหม่แล้ว วัดแห่งนี้มีวิหารที่สวยงามด้วยสัดส่วนขนาดเล็ก ลายปูนปั้นอันอ่อนช้อย และความร่มรื่นใต้ร่มเงาของหมู่ต้นลั่นทม
3. วัดช่างแต้ม สร้างในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช เดิมชื่อวัด วัดต้อมแต้มแก้วกว้างท่าช้างพิชัย เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าฝนแสนห่า หนึ่งในพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่
4. วัดพระเจ้าเม็งราย วัดเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยพระญามังราย เป็นที่ประดิษฐสถานพระพุทธรูปสำคัญของเมือง ‘พระเจ้าค่าคิง’ พระพุทธรูปตัวแทนพระญามังราย กับสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบเหมาะกับการปฏิบัติธรรม
5. วัดหมื่นเงินกอง วัดเล็กๆ ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนหมื่นเงินกอง งดงามด้วยวิหารไม้รูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนา ด้านข้างวิหารมีโถงพระไสยาสน์ศิลปกรรมล้านนา ตัวโถงประดับด้วยกระจกแก้วระยิบระยับสวยงาม
6. วัดพวกหงษ์ หนึ่งในวัดที่ขึ้นต้นชื่อด้วยคำว่า “พวก” สื่อถึงกลุ่มผู้สร้างวัดที่มีตำแหน่งขุนนางระดับล่าง หรือหัวหน้าช่างในกลุ่ม “พวกหงษ์” ภายในวัดมีเจดีย์ทรงปล่อง ที่หาชมได้ยาก

Dont miss
 พิพิธภัณฑ์ พวกแต้ม คัวตอง ตั้งอยู่ในวัดพวกแต้ม เป็นแหล่งรวบรวมและจัดแสดงงานคัวตอง (งานฉลุแผ่นเหล็ก) ทั้งลวดลายโบราณ งานร่วมสมัย และข้อมูลในรูปแบบนิทรรศการ
 ชื่นชมลวดลายปูนปั้นศิลปะพื้นถิ่น ที่อ่อนหวาน และนุ่นนวล บนตัววิหารวัดพระเจ้า เม็งราย

เส้นทางที่ 3 ชื่นชมคุณค่างานสถาปัตยกรรมล้านนา
อาณาจักรล้านนาในยุครุ่งเรืองสูงสุด ได้สั่งสมองค์ความรู้ และมรดกทางวัฒนธรรมไว้มากมาย โดยเฉพาะมรดกทางด้านสถาปัตยกรรมที่ยังคงรูปรอย หลงเหลือมาถึงคนรุ่นหลัง ให้ได้เรียนรู้ และซาบซึ้ง ใครที่มีโอกาสเดินชมเมืองเชียงใหม่ อยากชวนให้ลองเที่ยวไปตามเส้นทางชื่นชมคุณค่า งานสถาปัตยกรรมล้านนา แล้วคุณจะหลงรักความงดงาม และอ่อนหวาน ของงานสถาปัตยกรรมล้านนาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
1. วัดปราสาท ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญ ทางด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมล้านนา โดยเฉพาะรูปแบบของวิหาร ซึ่งถูกสร้างด้วยฝีมือช่างชั้นสูง ประกอบด้วยรูปแบบศิลปะและงานสถาปัตยกรรมในยุครุ่งเรืองของล้านนา ทั้งโครงสร้างม้าต่างไหม โครงสร้างหลังคา ขื่น และคาน ที่คนล้านนารับอิทธิพลมาจากจีน และลักษณะวิหารต่อท้ายด้วยเจดีย์ทรงปราสาท ซึ่งเป็นรูปแบบงานสถาปัตยกรรมที่หาชมได้ยากในพื้นที่ลุ่มอารยธรรมล้านนา
2. วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘วัดพระสิงห์’ เป็นวัดสำคัญอันดับต้นของเมืองเชียงใหม่ วัดแห่งนี้มีงานสถาปัตยกรรมอันงดงาม ได้แก่ หอไตรล้านนา วิหารลายคำซึ่งประดิษฐานพระพุทธสิงหิงค์ และเจดีย์ทรงช้างล้อม
3. วัดทุงยู วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในช่วงราชวงศ์มังราย ความงดงามของงานสถาปัตยกรรมภายในวัด ได้แก่ รายละเอียดงานสถาปัตยกรรมของวิหาร โดยเฉพาะตัวหน้าบันประดับปูนปั้นลวดลายเครือเถาประดับกระจกอังวะ และเจดีย์ทรงกลมศิลปะพม่า
4. วัดชัยพระเกียรติ เดิมชื่อวัดผาเกียรติ สร้างในช่วงพม่าปกครองเชียงใหม่ ภายในวิหารประดิษฐ ‘พระเจ้า 5 ตื้อ’ พระประธานที่หล่อจากทองคำ 5,000 กิโลกรัม เชื่อกันว่าหากใครได้มาไหว้สักการะพระเจ้า 5 ตื้อจะแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตราย
5. คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า ‘คุ้มเจ้ากลางเวียง’ เป็นหนึ่งในอาคารที่งดงามด้วยรูปแบบอาคารทรงมะนิลา สถาปัตยกรรมยุคโคโลเนี่ยล ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. และเปิดให้เข้าชมนิทรรศการความรู้ด้านสถาปัตยกรรม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
6. คุ้มเจ้าราชบุตร (สมพะนิมิตร) เป็นอีกหนึ่งคุ้มเจ้าที่ยังคงความสวยงาม และสมบูรณ์ของงานสถาปัตยกรรมยุคโคโลเนี่ยล โดยเฉพาะรูปทรงหลังคาทรงแกมเบล (Gambrel Roof) รูปแบบงานสถาปัตยกรรมที่เป็นที่นิยมในประเทศฝรั่งเศส คุ้มเจ้าราชบุตร (สมพะนิมิตร) ตั้งอยู่ใน AUA Language Center สาขาเชียงใหม่

Dont Miss
 รูปแบบวิหารล้านนา ทั้งระบบโครงสร้างม้าต่างไหม และรูปแบบวิหารต่อท้ายปราสาทซุ้มจรนำ คือจุดสูงสุดพัฒนาของรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ที่คุณสามารถหาชมได้ในเขตเมือง เฉพาะที่วัดปราสาท และวิหารลายคำวัดพระสิงห์ฯ เท่านั้น
 สำหรับคนเกิดปีแพะ อย่าลืมสักการะพระพุทธสิงหิงค์เพื่อความเป็น สิริมงคล

เส้นทางที่ 4 เรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่
หากคิดจะเริ่มเที่ยวเมืองเก่าเชียงใหม่ให้สนุก หรือมีเวลาจำกัด และต้องการทริปสั้นๆ ที่จะช่วยให้ตนเองสามารถปะติดปะต่อภาพร่างประวัติศาสตร์ และความเป็นไปของเมืองแห่งนี้ได้อย่างรวดเร็ว เส้นทางชื่นชมประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ คือ คำตอบของคุณ! …
1. หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ หอนิทรรศการที่จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ และอาณาจักรล้านนาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
2. พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา แหล่งรวบรวมองค์ความรู้ และนิทรรศการว่าด้วยวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อของคนล้านนา และชาติพันธุ์ไท ภายในอาคารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์น (สมัยใหม่) ที่หลงเหลือให้ชมเพียงไม่กี่แห่งในเมืองเชียงใหม่
3. วันพันเตา มีพระวิหารทำจากไม้สัก และสวยติดอันดับต้นๆของเมืองเชียงใหม่ ไม้สักที่ใช้ได้มาจากหอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศฯ สร้างเป็นพระวิหารในปี พ.ศ. 2418 ตามดำริของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงผู้ครองเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น
4. วัดเจดีย์หลวง มหาเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในอาณาจักรล้านนา คืองานสถาปัตยกรรมอันเป็นประจักษ์พยานแห่งยุครุ่งเรืองสูงสุดของอาณาจักร สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ. 1928-1945 นอกจากเจดีย์ขนาดใหญ่ และพระประธานในวิหาร ภายในวัดยังมีเสาอินทขิล หรือเสาหลักเมืองเชียงใหม่ ที่ควรแวะสักการะ
5. วัดฟ่อนสร้อย หนึ่งในวัดเก่าแก่ที่ยังหลงเหลือโบราณสถานเจดีย์อายุกว่า 500 ปี ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ ห่างจากตัววัดเล็กน้อย สันนิษฐานกันว่าวัดฟ่อนสร้อย น่าจะสร้างขึ้นในปี 2031 ตามเอกสารนิราศหริภุญไชย

Dont Miss
l ควรให้เวลา และความตั้งใจกับการชมนิทรรศการประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เพื่อคุณจะได้รู้จักเมืองเชียงใหม่ และอาณาจักรล้านนาให้มากขึ้น
l Highlight ของวัดพันเตาอยู่ที่หน้าบันแกะไม้รูปนกยูงศิลปะล้านนา สัญลักษณ์แห่งราชวงศ์ล้านนา
l ย่านประตูเชียงใหม่นอกจากวัดและโบราณสถานแล้ว ยังมีตลาดประตูเชียงใหม่เป็นตลาดเช้า ที่มีสินค้าพื้นเมืองหายาก วางจำหน่าย

เส้นทางที่ 5 เส้นทางสี่แจ่ง ห้าประตู เมืองเชียงใหม่
ความพิเศษของเมืองเก่าเชียงใหม่อยู่ที่ร่องรอยของเมืองเก่าที่ยังปรากฏชัดเจน ทั้งรูปทรงของเมืองสี่เหลี่ยม มีคูน้ำ ประตูเมือง ป้อม (แจ่ง) เมืองให้ได้เห็นชัดเจน และได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และด้วยขนาดเมือง ที่ไม่ใหญ่มากคุณสามารถเดิน หรือขับรถวนรอบเมือง ชมได้ทุกจุด
1. ประตูช้างเผือก ประตูมงคลด้านทิศเหนือที่กษัตริย์ เจ้านาย และขบวนพิธีใช้เป็นทางเข้าเมือง
2. แจ่งศรีภูมิ ป้อมมุมเมืองที่มีความสมบูรณ์ และสวยงามที่สุด เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเมืองเชียงใหม่
3. ประตูท่าแพ ประตูเมืองด้านทิศตะวันออก เป็นประตูที่ได้รับการบูรณะเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว เป็นประตูที่เปิดไปสู่ย่านการค้าริมน้ำของเมือง และเป็น Landmark สำคัญด้านการท่องเที่ยว
4. แจ่งก๊ะต๊ำ ป้อมมุมเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่ที่ต่ำที่สุดของเมืองเก่า ทำให้น้ำจากคูเมือง และแหล่งน้ำในเมืองจะไหลมารวมกันนะจุดนี้ ชื่อของแจ่งจึงถูกเรียกตามเครื่องมือดักปลา ที่มีชื่อว่า ‘ก๊ะต๊ำ’
5. ประตูเชียงใหม่ – ประตูด้านทิศใต้ที่ถูกใช้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับเมืองด้านทิศใต้ และยังเป็นแหล่งค้าขายสินค้าสำคัญตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
6. ประตูสวนปรุง ตามความเชื่อของคนเชียงใหม่ ประตูนี้คือ ประตูผี มีไว้เผื่อนำศพออกจากเมือง
7. แจ่งกู่เฮือง ป้อมมุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตามความเชื่อของคนเชียงใหม่มุมเมือง ณ จุดนี้ถือว่าเป็นทิศอัปมงคล ในอดีตพื้นที่บริเวณป้อมจึงถูกใช้เป็นพื้นที่คุก
8. ประตูสวนดอก ประตูเมืองด้านทิศตะวันตก ในอดีตเป็นประตูเมืองที่เปิดไปสู่สวนดอกไม้ของกษัตริย์ ปัจจุบันถือว่าเป็นประตูเมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่สวยงามที่สุด ทั้งพื้นที่สีเขียว และต้นไม้ใหญ่พื้นเมืองหลากชนิด
9. แจ่งหัวริน ป้อมมุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ป้อมแห่งนี้ถือเป็นจุดรับน้ำจากดอย สุเทพเข้าหล่อเลี้ยงคูเมือง และพื้นที่ในเวียงเก่า ชื่อของป้อม ‘หัวริน’ จึงแสดงออกหน้าที่สำคัญ ของป้อมและพื้นที่แห่งนี้

Dont Miss
l ชื่นชมต้นยางขนาดใหญ่อายุกว่า 100 ปี ณ ประตูสวนปรุง และประตูสวนดอก รวมไปถึงกลุ่มต้นลานขนาดใหญ่ที่แจ่งหัวริน
l ณ แจ่งศรีภูมิ ควรแวะสักการะศาลเจ้าเมืองเชียงใหม่ และชื่นชมต้นนิโครธไม้มงคลประจำเมืองเชียงใหม่



  • สงวนลิขสิทธิ์ © 2025 สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)
    33 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230