ตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในระดับโลก สามารถสร้างรายได้และกระจายรายได้ โดยคํานึงถึงความเป็นธรรม สมดุล และยั่งยืน” โดยมีพันธกิจในการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวดังนี้
๑. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอํานวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยว ตลอดจนปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว ให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล
๒. พัฒนาและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวให้มีศักยภาพ มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์ทรัพยากรท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมสังคม และวิถีชีวิตของชุมชน
๓. เตรียมความพร้อมของภาคบริการและปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวให้มีความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลง และมีบทบาทสําคัญในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
๔. สร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ
๕. บูรณาการงานด้านการท่องเที่ยวให้มีเอกภาพ ลดความซ้ำซ้อนของภารกิจ สร้างกลไกในการสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยว และการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้สูงขึ้นจากการจัดอันดับในภูมิภาคเอเซีย และเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้มากขึ้น และกลุ่มท่องเที่ยวได้รับการพัฒนา 8 กลุ่มท่องเที่ยว
การสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและพัฒนาระบบสนับสนุนการตลาดท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวรับรู้และเข้าใจในภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สร้างกระแสการรับรู้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศเป็นอย่างมาก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น มีการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวเหล่านั้นสอดคล้องกับพันธกิจของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งในการวางแผนพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่พัก ศูนย์ประชุมและกิจกรรมที่ต่อเนื่องเพื่อพัฒนาพิงคนคร รวมทั้งการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง ประสานงานและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาพิงคนครโดยพื้นที่ในเขต พิงคนครประกอบด้วย ๘ จังหวัดภาคเหนือ อันประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีแหล่งท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากที่ยังควรได้รับการสนับสนุนและส่งเสริม เปิดโอกาสในการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมด้านการตลาด ซึ่งปัจจุบันนี้ตลาดที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศเมียนมาร์
โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนจัดว่าเป็นตลาดใหญ่ที่มีผลต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง จากสถิตินักท่องเที่ยว ของกรมการท่องเที่ยวที่แสดงให้เห็นถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของประเทศต่างๆ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยเนื่องมาจากหลายปัจจัยเช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศจีนทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชาชนเพิ่มมากขึ้น การเดินทางระหว่างไทย-จีน มีความสะดวกมากยิ่งขึ้นเนื่องมาจากมีการเปิดเส้นทางบินตรงมายังประเทศไทยและมีการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น การเดินทางทางบกผ่านด่านชายแดนไทยมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น อิทธิพลจากภาพยนตร์เรื่อง lost in Thailand ซึ่งถ่ายทำที่จังหวัดเชียงใหม่ และอิทธิพลของภาพยนตร์ไทยเรื่องสิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยวยังประเทศไทย เช่นการทำป้ายบอกทางภาษาจีน ล่ามภาษาจีนมีมากยิ่งขึ้น โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนจัดเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพเนื่องจากนิยมมากันเป็นหมู่คณะและมีอัตราการใช้จ่ายสูงมาก
ในส่วนของประเทศเมียนมาร์นั้น พบว่าจัดเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่งทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เนื่องมาจากเป็นประเทศที่มีความโดดเด่น ในเรื่องการมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมในเชิงพุทธศาสนา มีการสนับสนุนทางด้านการท่องเที่ยวจากรัฐบาลโดยมีนโยบายเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวหลายด้าน เช่น การสนับสนุนแพ็คเกจทัวร์ในหลายเมืองของประเทศในราคาประหยัด การให้บริการขอวีซ่าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (E-Visa) การเร่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่การเปิดสายการบินและเส้นทางบินใหม่ เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบว่าลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเมียนมาร์มีชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ๔ ประเทศ ได้แก่ จีน ไทย อินเดียและบังคลาเทศ มีจุดการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 15 แห่ง นอกจากนั้น
ในส่วนความสัมพันธ์กับประเทศไทยนั้นพบว่า จากข้อมูลของ งานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีจำนวนนักท่องเที่ยวเมียนมาร์เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทั้งนี้เนื่องมาจากชาวเมียนมาร์มีความเข้าใจในสถาณการณ์ของประเทศไทยเป็นอย่างดีจึงไม่มีความอ่อนไหวกับเหตุการณ์วิกฤติ มีการพัฒนาทางด้านการคมนาคมเป็นอย่างมาก โดยมีการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินและเส้นทางบินมากยิ่งขึ้นและการพัฒนาการคมนาคมทางบกรวมทั้งพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างกัน การสนับสนุนให้มีการเปิดด่านการค้าเสรีเพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งค่าครองชีพที่ไม่สูงมากนัก นอกจากนั้นยังพบว่าชาวเมียนมาร์ที่มีคุณภาพนิยมมาเข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลเอกชนของประเทศไทย อีกด้วย
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การจัดกิจกรรม Road show ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศเมียนมาร์ จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดี ที่ผู้ประกอบการธุรกิจในด้านต่างๆของกลุ่ม 8 จังหวัดภาคเหนือ ในพื้นที่พิงคนครจะได้มีโอกาสประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ร่วมเจรจาธุรกิจ การหาผู้แทนจำหน่าย รวมทั้งสร้างพันธมิตรกับนักธุรกิจรวมทั้งผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่มีคุณภาพของประเทศนั้นๆ นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงศักยภาพและความพร้อมของกลุ่ม 8 จังหวัดภาคเหนือในเขตพิงคนครรวมทั้งประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวอีกด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากทั้งสองประเทศ ให้มายังกลุ่ม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนมากยิ่งขึ้น ยังช่วยกระตุ้นให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ รวมทั้งการลงทุนระหว่างประเทศ อันจะเป็นการช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับประเทศอีกด้วย