Pinkanakorn Development Agency (Public Organization)

เครื่องเขิน

visibility 186,194

ความหมายของเครื่องเขิน ตามพจนานุกรมไทยกล่าวไว้ว่าเครื่องเขินไทยคือ เครื่องสานที่ทาด้วยรักและชาด  แต่โดยทั่วไปแล้วเครื่องเขินหมายถึง เครื่องใช้สอยที่ทำขึ้นโดยวิธีการเฉพาะอย่างหนึ่งประกอบด้วยไม้หรือไม้ไผ่ทำเป็นรูปเครื่องใช้สอยต่างๆ ตามต้องการแล้วกรรมวิธีแต่งสำเร็จให้สมบูรณ์และสวยงาม โดยใช้ยางรัก สี ชาด มุก ทองคำเปลว หรือเงินเปลวเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำ

เครื่องเขินในภาษาอังกฤษใช้คำว่า LACQUER  WAREซึ่งที่มาของคำว่าLacquer เริ่มมีใช้มาตั้งแต่คริสตวรรษที่ 17  ในประเทศฝรั่งเศสใช้คำว่า Lacque ซึ่งหมายถึงกาวยางหรือครั่งที่ใช้สำหรับติดประทับเอกสารเพื่อไม่ให้แยกหรือเปิดออกมาได้ ส่วนในประเทศสเปนและโปรตุเกสใช้คำว่า Lacre มาตั้งแต่คริสตวรรษที่ 16 ประเทศอิตาลีใช้คำว่า Lacra  และมีการเปลี่ยนรูปแบบมาเป็น Lacquar

ส่วนยางรักใช้คำว่าLacquer แต่คำอังกฤษทั้งสองคำนี้ก็หาได้ใช้หมายถึงเฉพาะเครื่องเขินและยางรัก  แต่เป็นคำทั่วไปสำหรับน้ำมันขัดเงา หรือน้ำมันเคลือบ ซึ่งเป็นสีใสใช้ทาวัตถุโลหะหรือไม้ ตามร้านขายเครื่องก่อสร้างต่างๆ( แต่ถ้ากล่าวถึง Lacquer ในเรื่องเครื่องเขินของตะวันออกไกล จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี  ต้องเข้าใจว่าเป็นคำศัพท์เฉพาะหมายถึงยางรักและ Lacquering ก็คือการลงรักนั้นเอง )

เครื่องเขินเรียกตามนามของเผ่าชนผู้ประดิษฐ์ขึ้นคือ ไทยเขิน ทางเชียงตุงนั้นเอง ชนเผ่านี้เป็นเชลยที่ถูกกวาดต้อนมาเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน  โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ในขณะที่พระองค์ยังไม่ได้ครองราชสมบัติ และดำรงตำแหน่งแม่ทัพไปตีเวียงจันทร์ จึงได้นำเอาเชลยเหล่านี้มา และได้ตั้งรกรากอยู่ที่เชียงใหม่และถ่ายทอดวิชาหัตถกรรมนี้ให้แก่ชาวเชียงใหม่ ซึ่งเวลานี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องเขิน และเป็นแหล่งรวบรวมยางรักของประเทศไทยและหมู่บ้านที่ได้ชื่อว่ามีการทำเครื่องเขินเป็นล้ำเป็นสันก็คือที่ หมู่บ้านเขิน  ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

เครื่องเขินจากส่วนหนึ่งของหนังสือAspects Fact To Thailandกรมประชาสัมพันธ์พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2501 กล่าวว่าเครื่องเขินเรียกชื่อตามเผ่าหนึ่งในตอนเหนือไทย  พวกเหล่านี้เป็นเชลยที่ถูกกวาดต้อนมาเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน  โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพไปตีเวียงจันทร์  เชลยเหล่านี้ได้ตั้งรกรากในเชียงใหม่และถ่ายทอดวิชาหัตถกรรมนี้ให้ชาวเชียงใหม่ ซึ่งตรงกันในส่วนของประวัติและที่มาของเครื่องเขิน เครื่องเขินนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากจีน โดยที่ตามประวัติของพิพิธภัณฑ์สถานจีน กล่าวว่า กรรมวิธีการผลิตเครื่องเขินได้เริ่มในสมัยฉางโจว และพัฒนาในสมัยจิ้น จนถึงสมัยฮั่น ซึ่งเครื่องเขินมีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์จีนและได้ถูกอ้างถึงในหนังสือเซีย ซิ  หลู ( Hsia Shih Lu ) ที่เขียนขึ้นในราชวงศ์หมิง ได้กล่าวถึงต้นกำเนิดของเครื่องเขินไว้อย่างแน่นอน โดยกล่าวว่าเดิมเครื่องเขินทำด้วยไม้ไผ่และยาด้วยยางรัก  ซึ่งเมื่อ 4000 ปีมาแล้ว จักรพรรดิชุน เสวยอาหารในภาชนะที่เคลือบยางรัก จักรพรรดิยู่ แห่งราชวงศ์เซี่ย ก็มีภาชนะใส่เครื่องหอมที่ยาด้วยยางรักสีดำชั้นในและชั้นนอกสีแดงเช่นกัน และสมัยราชวงศ์โจว รถศึกจะถูกตบแต่งด้วยการลงรักเพราะน้ำหนักเบาทนทานพอสมควร

ในสมัยก่อนจีนรู้จักวิธีการผสมสีแดงและดำในการผลิตเครื่องเขินแล้ว โดยพบหลักฐานว่าเครื่องเขินสมันฮั่นที่พบในเมืองเลลางของเกาหลีและเครื่องเขินของอาณาจักรจู ที่ขุดได้จากเมืองชางชา ก็รู้จักการใช้สีเหล่านี้แล้ว

ดังนั้น จึงพอจะสันนิษฐานได้ว่าเครื่องเขินนั้นควรจะมีจุดกำเนิดมาจากจีนและแพร่หลายไปในที่ต่างๆ โดยผ่านทางเกาหลีและญี่ปุ่น หรือผ่านทางตอนใต้ของจีน จนมาถึงไทยก็ได้ ซึ่งในหนังสือเครื่องเขินพม่ากล่าวว่า พม่าได้รับกรรมวิธีการทำเครื่องเขินจากจีนตั้งแต่สมัยปยู โดยผ่านทางเผ่าเชียง ซึ่งอยู่ทางพรมแดนตะวันตกของพม่า โดยจะรับเทคโนโลยีนี้ตั้งแต่สมัยฮั่นเป็นต้นมา

เพราะมณฑลเสฉวนนั้นจะเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญในการผลิต เช่น มีชาดและยางรัก ซึ่งพวกเทียนและโปในยูนานก็รู้จักการใช้วัตถุดิบเหล่านี้ผลิตเช่นกัน และอาจถ่ายทอดไปทั่วบริเวณนี้ ซึ่งต่อมาพวกทางเหนือของน่านเจ้าก็อพยพลงมาสู่ดินแดนปยู นำความรู้ในการผลิตเครื่องเขินลงมาด้วย ซึ่งเครื่องเขินพม่าที่เก่าที่สุดจะพบในเจดีย์มินกาลาเซดิหรือมันตระเจดีย์ อายุราว ค.ศ. 1274  เป็นกล่องไม้สักทรงกระบอกเขียนด้วยยางรักและสีโอ๊ค  โดยที่มีศิลาจารึกยุคศตวรรษที่ 11 ของพุกามกล่าวว่าเครื่องเขินเป็นที่นิยมแพร่หลายมากในสมัยนั้น จนถึงปัจจุบันพุกามยังคงเป็นศูนย์กลางของการทำเครื่องเขินในพม่าอยู่

เครื่องเขินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในพุกามจะได้รับกรรมวิธีมาจากยวน เป็นภาษาฉาน ที่ใช้เรียกดินแดนล้านนาตั้งแต่ยูนานลงมาจนถึงเชียงใหม่ โดยนักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า คงได้รับวิธีการผลิตผ่านพวกยวนมาก็ได้  ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ว่า วิธีทำเครื่องเขินนี้คงได้รับแต่ละกรรมวิธีในคนละช่วงเวลาและจากเอนไซโคลปิเดีย  บริเตนนิก้า กล่าวไว้ว่า จีนเป็นต้นตำรับทำเครื่องเขินมาเก่าแก่ไม่น้อยกว่า3000 ปีมาแล้ว และในสมัยต้นราชวงศ์หมิง  ก็มีโรงงานทำเครื่องเขินหลายโรงงานทำอยู่ที่เมืองตาลีฟู (เมืองแส) ในยูนาน และที่ตังเกี๋ย ดังนี้จึงน่ายุติว่าวิชาการทำเครื่องเขินนี้แพร่ออกจากจีนลงมาทางใต้และตะวันตกสู่ประเทศต่างๆในดินแดนตะวันออกไกลนี้

ส่วนเครื่องเขินไทยจากข้อสันนิษฐานแรกที่ว่าได้รับจากไทยเขินที่อพยพมาจากเชียงตุงนั้น คาดว่าคงจะได้รับกรรมวิธีต่างๆ จากจีนผ่านน่านเจ้ามาเป็นเวลานาน จนถึงแหล่งที่อยู่ของไทยทางรัฐฉานแล้ว จึงแยกเข้าพุกามหรือเชียงใหม่ จนกระทั่งเมื่อบุเรงนองเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ในปี                    ค.ศ. 1551-1581 ก็กวาดต้อนช่างฝีมือ 40,000 คน รวมถึงช่างเครื่องเขินเชียงใหม่พวกนี้ไปพม่า และในช่วงปี 1558-1775 ที่พม่าปกครองล้านนา กษัตริย์เชียงใหม่ต้องส่งเครื่องบรรณาการประกอบด้วย ช้าง ม้า ผ้าไหมและเครื่องเขิน ไปให้พม่าด้วย ต่อมาพญาอลองพญา ยกทัพมาปราบล้านนาในปี พ.ศ. 2305 ได้อีก และได้กวาดต้อนผู้คนไปพม่าไปอยู่เมื่องไลข่าในรัฐฉาน (อาจเป็นเมืองเขินก็ได้) มีการผสมผสานเชื้อชาติระหว่างเผ่าไทยและลาวตามชายแดน ซึ่งทำให้เพิ่มจำนวนช่างมีฝีมือมากขึ้น มีหลักฐานว่าผู้ครองรัฐฉาน ก็เคยนำช่างฝีมือตามชายาของตนจากเมือง ใกล้เวียงจันทร์ไปตกแต่งเจดีย์ด้วยกรรมวิธีลงรักด้วย

หลังจากนั้นอิทธิพลของพม่าในล้านนาก็อ่อนกำลังลงจนกระทั่ง พระยากาวิละได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2325  ได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ โดยรวบรวมพลเมืองเข้ามาไว้ในตัวเมืองเป็นยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” พระยากาวิละกวาดต้อนชาวเมืองเชียงใหม่ที่หลบหนีจากป่ากลับเข้าเมือง พร้อมด้วยผู้คนจากสิบสองปันนา ไทใหญ่ ไทลื้อและไทเขิน มาเชียงใหม่ให้ไทยเขินตั้งบ้านเรือนที่ถนนวัวลาย ดังนั้นเครื่องเขินจึงเดินทางกลับเข้าสู่เมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง จนเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน

ส่วนกรรมวิธีลงรักปิดทองที่พบอยู่ทั่วไปในประเทศไทยนั้น คงได้รับกรรมวิธีมาจากจีนเช่นกัน และในขั้นต้นคงจะเป็นการทำก้นเฉพาะของใช้ที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา (จากสุโขทัยถึงภาคใต้)หรือของสูง เช่น ตะลุ่มมุก หรือพานแว่นฟ้า เป็นต้น ไม่ได้ทำของใช้แพร่หลายเหมือนทางล้านนา ดังนั้น ศัพท์เครื่องเขินจึงน่าจะเป็นที่รู้จักในยุคหลังปี พ.ศ. 2325 มากกว่า (เครื่องเขินที่เก่าที่สุดของไทยที่พบคือจุกปิดคณโฑน้ำสมัยหริภุญชัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 )

อาจารย์ไกรสีห์ นิมมานเหมินทร์ ปราชน์ทางศิลปวิฒนธรรมล้านนาได้กล่าวว่าชาวพม่าเรียกภาชนะเครื่องเขินว่า “โยนเถ่” ซึ่งแปลว่า เครื่องเขินของคนโยนหรือคนยวน ซึ่งหมายถึงชาวเชียงใหม่ ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าชาวพม่าอาจมีการทำเครื่องเขินมาก่อน แต่เทคนิคพิเศษที่เรียกว่าโยนเถ่นั้นเกืดหลังจากที่ได้ช่างฝีมือเชียงใหม่ไปเป็นเชลยและเป็นช่างหัตถกรรมในหงสาวดีเครื่องเขินพม่ามีลวดลายประดับอย่างหนึ่งเรียกว่า “ซิ่นเม่” ซึ่งหมายถึงเชียงใหม่ น่าจะเป็นลวดลายดั้งเดิมจากเชียงใหม่ตั้งแต่ปลายราชวงศ์มังราย

ปีพ.ศ. 2100มีหลักฐานบางอย่างชี้ให้เห็นถึงการใช้ยางรักสำหรับเคลือบผิวภาชนะต่างๆ  ก่อนยุคราชวงศ์มังรายคือ ในสมัยหริภุญชัย เช่น อาจารย์จอห์น ชอว์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาไทยได้ค้นพบว่าเครื่องปั้นดินเผาบางชนิดในวัฒนธรรมหริภุญชัยมีการเคลือบยางรัก ส่วนเครื่องจักสาร และไม้ที่เคลือบด้วยยางรักยุคนั้น คงเปื่อยผุสลายไปกับกาลเวลาเพราะ เป็นสารอินทรีย์ ถ้าไม่เก็บรักษาอย่างดี ทำให้ยางรักบางส่วนตกค้างเป็นหลักฐานถึงปัจจุบัน

ที่พิพิธภัณฑ์Tokugawaนครนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น มีการจัดแสดงของใช้ส่วนตัวของโชกุนหลายๆอย่างมีของใช้ชิ้นหนึ่งเป็นตลับเครื่องเขินทรงกลมที่เป็นแอ๊ปหมาก(ตลับหมาก) ของเชียงใหม่สีดำแดงตามแบบฉบับเครื่องเขินเชียงใหม่ทุกประการ แต่คำอธิบายว่าเป็นของขวัญจากอยุธยา และเป็นของส่งออกตามเส้นทางค้าขายชายทะเลด้วย

มีหลักฐานที่แสดงว่า วิธีทำเครื่องเขินได้แพร่หลายไปถึงประเทศญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นเรียกเครื่องเขินว่า คิมมา- เด (Kimma-de) ซึ่งเมื่อได้ลงรักที่พื้นภาชนะครั้งสุดท้ายแล้ว ก็เอาไปแกะหรือขูดให้เป็นลวดลายแล้วจึงลงรักสี (แดง น้ำเงิน เหลือง และน้ำตาล) ให้เต็มตามเส้นที่แกะไว้เมื่อแห้งแล้วก็ขัดให้เรียบเสมอกัน ศาสตราจารย์วิชาศิลปะเครื่องเขินในมหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าวว่า”กรรมวิธีแรกเริ่มมีในไทยและพม่า ใช้กับภาชนะสำหรับใส่คิมมา (ยารักษาโรคชนิดหนึ่ง) แล้วเข้าสู่ญี่ปุ่นได้รับกรรมวิธีในสมัยอิโด พ.ศ. 2548-5411″ชาวญี่ปุ่นที่เข้าใจภาษาไทยดีอธิบายว่า คำว่า “คิมมา”ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น เห็นจะเพี้ยนไปจากคำว่า ” กินหมาก” หรือ ” เซี่ยนหมาก ” หนังสือชื่อ INRO andoter miniature forms of japanese Lacquer art เขียนโดย Melvim และ Betty Jahss เล่าถึงกรรมวิธีการทำเครื่องเขินญี่ปุ่นอย่างหนึ่งชื่อ KIMMAที่มีลักษณะเด่นคือโครงภายในเป็นไม้ไผ่สานลงรักสีแดงคล้ำ มีลายขูดที่ผิวเป็นภาพลายเส้นต่างๆเช่น นกและดอกไม้ และในร่องเส้นเหล่านั้น ถมด้วยสีต่างๆหลายสี อ้างไว้ด้วยเทคนิคที่ญี่ปุ่นได้มาจากกรุงสยามตั้งแต่สมัย Momoyoma ( พ.ศ. 2116-2548 )และคำว่า KIMMA ไม่มีในภาษาญี่ปุ่น (ฟังสำเนียงคล้ายคำว่ากินหมากหรือขันหมาก)

cloud_download
หน้าปก
cloud_download
หนังสือเครื่องเขิน


  • สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)
    33 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230